Books & Belongings ร้านหนังสือย่านบางจาก ที่ชวนทุกคนตกตะกอนความคิดช้าๆ ผ่านโลกหนังสือ
Books & Belongings ร้านหนังสือย่านบางจาก ที่ชวนทุกคนตกตะกอนความคิดช้าๆ ผ่านโลกหนังสือ
19 มี.ค. 2567
SHARE WITH:
19 มี.ค. 2567
19 มี.ค. 2567
SHARE WITH:
SHARE WITH:
Books & Belongings ร้านหนังสือย่านบางจาก ที่ชวนทุกคนตกตะกอนความคิดช้าๆ ผ่านโลกหนังสือ
“ต้องบอกว่าร้านของเราตอนนี้เข้าเวอร์ชั่น 3 แล้ว จากเวอร์ชั่น 1 ที่อยู่ตรงปากซอยสุขุมวิท 91”
โย-กิตติพล สรัคคานนท์ เริ่มต้นเล่าที่มาที่ไปของร้านหนังสือ Books & Belongings ให้เราฟัง หลังจากที่เราและเขา รวมถึงหุ้นส่วนของร้านอีกหนึ่งคน นั่นก็คือ วิกกี้-วิชุตา โลหิตโยธิน นั่งล้อมวงสนทนาที่โต๊ะวางหนังสือใจกลางร้านแห่งนี้ ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในซอยสุขุมวิท 95 ย่านบางจาก
โยพาเราย้อนกลับไปยังปี 2013 จุดกำเนิดเวอร์ชั่นแรกของร้าน ที่เริ่มต้นจากความชื่นชอบบรรยากาศร้านกาแฟจนมักจะนัดประชุมกับเพื่อนร่วมงานในสถานที่ที่มีไวบ์แบบนั้นอยู่บ่อยๆ และต่อยอดมาเป็นการดัดแปลงพื้นที่ชั้นล่างของออฟฟิศตัวเอง ณ ปากซอยสุขุมวิท 91 ให้กลายเป็นร้านหนังสือสไตล์ลำลองที่เพื่อนร่วมงาน รวมถึงลูกค้าที่มาประชุมงาน สามารถนั่งพูดคุย อ่านหนังสือ หรือซื้อติดไม้ติดมือกลับไปด้วยได้
“ตอนนั้นผมชอบคอนเซปต์ของ ‘Oulipo’ (อูลิโป - ย่อมาจากชื่อกลุ่มเคลื่อนไหววรรณกรรมในฝรั่งเศสที่ชื่อว่า Ouvroir de littérature potentielle) ที่มองว่างานวรรณกรรมคือการทดลองหาความเป็นไปได้ ผมก็เลยเอาธีมนี้มาสร้างเป็น Books & Belongings ในเวอร์ชั่นแรก โดยออกแบบให้เป็นเวิร์กช็อปของโรงงานในต้นศตวรรษที่ 20 ที่มีคนนั่งเขียนแบบหรือนั่งประกอบผลงานต่างๆ อยู่บนโต๊ะ เพราะฉะนั้นโต๊ะ เก้าอี้ และบรรยากาศในร้านจะมีความเป็นอินดัสเทรียลมากๆ และก็มีพิมพ์ดีด หมึกพิมพ์ดีด ปากกา รวมถึงสมุดต่างๆ ที่ใช้เป็นทั้งของประดับตกแต่งร้านและขายจริงด้วย”
หลังจากนั้นร้านก็ก้าวเข้าสู่เวอร์ชั่นสอง หลังได้ Vacilando Bookshop ที่เชี่ยวชาญด้านหนังสือแนวโฟโต้บุ๊กเข้ามาแชร์พื้นที่ ซึ่งถึงแม้การร่วมมือกันในครั้งนี้จะช่วยให้โยกระตือรืนร้นในการคัดสรรหนังสือและคิวเรตหน้าร้านและบุ๊กเชลฟ์ของ Books & Belongings ให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันสภาวะอิ่มตัวของการทำร้านหนังสือก็ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ เช่นกัน
ระหว่างที่โยกำลังลังเลอยู่ว่าจะไปต่อกับเส้นทางนี้ดีหรือไม่ วิกกี้ก็เข้ามาเป็นแรงกระตุ้นใหม่ให้โยลุกขึ้นสู้อีกครั้งและสานต่อความเป็น Books & Belongings ในเวอร์ชั่นใหม่ที่มาพร้อมกับระบบฐานข้อมูลดิจิทัล
“เราชอบบรรยากาศร้านมากและรู้สึกว่าร้านหนังสือแบบนี้จำเป็นที่จะต้องมีอยู่ เราเลยขอมาร่วมทำด้วย” วิกกี้เล่าถึงความตั้งใจของเธอในการร่วมงานกับโย
“ในเวอร์ชั่นก่อนๆ พี่โยยังใช้ระบบจดมืออยู่ แต่ตอนที่เราเข้ามา ลูกค้าไม่สามารถเข้ามายังพื้นที่หน้าร้านได้ เนื่องจากอยู่ในช่วงล็อกดาวน์โควิด เราเลยต้องย้ายหนังสือจาก Physical Platform ไปอยู่บน Online Platform ในขณะเดียวกันเราต้องการที่จะเห็นเรคคอร์ดต่างๆ ของร้านด้วย จึงนำไปสู่การสังคายนารอบใหญ่ ในการสร้างดาต้าเบสและระบบสต็อกหนังสือ หรือ Inventory เพื่อให้เราสามารถเช็กข้อมูลได้ว่าจำนวนการเข้าออกของหนังสือแต่ละเล่มเป็นยังไง ลูกค้าของร้านมาจากช่องทางไหนบ้าง ทั้งหมดนี้เราจัดการเสร็จภายในเวลาประมาณไม่ถึง 2 เดือนดี โควิดก็เป็นช่วงเวลาลูกผีลูกคนสำหรับเราเหมือนกัน มันเฆี่ยนตีเราให้ปรับตัวเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไม่งั้นเราก็ไปต่อไม่ได้”
อย่างไรก็ตาม ความโหดร้ายที่มีต่อผู้ประกอบธุรกิจร้านหนังสืออิสระเล็กๆ อย่างโยและวิกกี้ยังไม่จบลงแต่เพียงเท่านี้ ในขณะที่กำลังรับมือกับสถานการณ์ในช่วงวิกฤตโควิตอยู่นั้น ทั้งคู่ต้องเผชิญกับปัญหาใหม่ที่เร่งด่วนยิ่งกว่า นั่นก็คือการหาหน้าร้านใหม่ เนื่องจากสัญญาเช่าของพื้นที่เดิมสิ้นสุดลงและไม่มีการต่อสัญญา
“การมาเจอทำเลตรงนี้ก็อัศจรรย์ดีเหมือนกันนะ” โยมองความท้าทายในครั้งนั้นด้วยความสนุก “ตอนที่เราเดินสำรวจในซอยสุขุมวิท 95 มันมีห้องว่างอยู่ไม่เยอะ แล้วเราก็เห็นตึกหนึ่งที่หน้าตาและการตกแต่งคล้ายๆ ร้านเดิมของเราเลย เราก็เลยลองโทรติดต่อเจ้าของดู”
ขณะที่ทั้งคู่เล่าถึงธุรกิจร้านหนังสือและปัญหาต่างๆ ที่กำลังประสบให้เจ้าของตึกแห่งนี้ฟัง ความบังเอิญอันน่ามหัศจรรย์อย่างที่โยว่าก็เกิดขึ้น เมื่อเจ้าของเฉลยว่าตัวเองก็เป็นลูกค้าของ Books & Belongings และชื่นชอบบรรยากาศและการตกแต่งร้านที่ปากซอยสุขุมวิท 91 มากจนนำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการประยุกต์ดัดแปลงให้เข้ากับอาคารแห่งนี้ อีกทั้งยังยินดีให้โยและวิกกี้สามารถย้ายร้านมาได้ทันที
วิกกี้นิยามเหตุการณ์ในครั้งนั้นด้วยประโยคสั้นๆ ว่า “มันเหมือนกับว่าในขณะที่เรากำลังจะออกจากที่หนึ่ง ประตูบานใหม่มันก็เปิดรับทันทีเหมือนกัน”
Curated Bookstore ที่สร้าง Reading Journey ให้ผู้อ่าน
“ร้านหนังสือจะอยู่ได้ สิ่งสำคัญคือต้องทำงานอย่างหนัก หากลุ่มนักอ่านของตัวเองให้เจอและทำความเข้าใจ รวมถึงเชื่อมั่นในทิศทางที่ตัวเองกำลังทำอยู่”
วิกกี้เล่าว่าระบบฐานข้อมูลที่เธอและโยสร้างขึ้นมาในช่วงโควิดนั้น ทำให้ทั้งคู่เห็นว่าลูกค้าของ Books & Belongings ในเวอร์ชั่นปัจจุบันมีทั้งผู้ที่ไม่รู้เลยว่าตัวเองอยากอ่านหนังสือแบบใดและต้องการคำแนะนำจากเจ้าของร้านหนังสือ ไปจนถึงกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่มาตามหาหนังสือเพิ่มเติมเพื่อต่อยอดการเรียนรู้ของตัวเอง และคนทำงานที่เป็นคอวรรณกรรม หรือต้องการหนังสือที่ตอบโจทย์หรือสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานสายครีเอทีฟ แม้กระทั่งกลุ่มนักอ่านที่อยู่ในวัยเกษียณแล้ว
แม้กลุ่มนักอ่านที่เข้าร้านหนังสือจะมีความหลากหลาย ครอบคลุมเกือบทุกช่วงวัย กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า Books & Belongings จะเลือกหนังสืออะไรก็ได้มาวางจำหน่ายที่หน้าร้าน เจ้าของร้านทั้งสองคนต้องทำการบ้านเพื่อดูว่าลูกค้าปัจจุบันของตัวเองคือใคร และอยากจะขยายกลุ่มนักอ่านไปในทิศทางไหน อีกทั้งจะเข้าถึงพวกเขาเหล่านั้นได้อย่างไร นอกจากนี้ยังต้องอัปเดตหนังสือให้เท่าทันสถานการณ์โลก ณ ขณะนั้นด้วยเพื่อจะได้รู้ว่าผู้อ่านต้องการข้อมูลเรื่องไหน สนใจประเด็นใดเป็นพิเศษอยู่บ้าง
“จะสังเกตได้ว่าร้านเราไม่มีพื้นที่คาเฟ่หรือร้านอาหาร เพราะเราต้องการโฟกัสกับการ ‘คิวเรต’ และ ‘คัดสรร’ หนังสือ โดยเรากับพี่โยช่วยกันทำ ซึ่งใช้เวลาและพลังค่อนข้างสูง และเราก็ไม่ได้รับหนังสือที่เป็น New Arrival หรือ Bestseller มาลงที่หน้าร้าน เพราะเรามองว่ามีร้านหนังสือรีเทลอื่นๆ ที่ทำหน้าที่นั้นได้ดีอยู่แล้ว ดังนั้นไม่จำเป็นที่เราต้องไปทับซ้อนพื้นที่นั้น”
โยเสริมวิกกี้เพิ่มเติมว่า “ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เรามองตัวเองเป็น ‘Curated Bookstore’ มาโดยตลอด ถ้าผู้อ่านที่เข้ามาในร้านจับทางได้ เขาก็จะเห็นว่าร้านเราให้ความสำคัญกับวรรณกรรม งานเขียนแนวปรัชญา และงานด้านทฤษฎีมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และพอวิกกี้เข้ามา ก็ขยายไปถึงประเด็นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมไปถึงความรู้ในเชิงวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือศิลปะ ซึ่งมันก็ยังรีเลตกับปรัชญาที่ผมสนใจอยู่ดี”
ฟังดูแล้วหนังสือของร้านก็มีตัวเลือกที่หลากหลายพอสมควร แต่วิกกี้บอกว่าความหลากหลายนี้ถูกคลุมไว้ด้วยคาแรกเตอร์ที่ยูนีกและคอนเซปต์ของร้านที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าต้องการพาตัวเองและผู้อ่านเดินไปยังทิศทางใด
“เราสร้าง ‘Reading Journey’ ให้แก่ผู้อ่านทุกคนที่ได้เข้ามาในร้าน เมื่อเขาเริ่มอ่านเล่มที่หนึ่งแล้ว เขาก็จะเห็นไดเร็กชั่นที่ค่อนข้างชัดว่าเขาจะต้องไปอ่านอะไรต่อ ซึ่งเราต้องเชื่อมโยง Journey ตรงนี้ให้ดี ไม่งั้นมันจะเหมือนเส้นทางที่เป็นหลุมเป็นบ่อ ไม่ปะติดปะต่อกัน นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงพยายามติดต่อสำนักพิมพ์เพื่อให้ได้เล่มนั้นเล่มนี้มาอยู่ที่ร้าน มันใช้เอเนอร์จี้เยอะกว่าจะทำให้การเดินทางของแต่ละเรื่องผ่านหนังสือเล่มต่างๆ นั้นครบและจบแบบกลมกล่อม แต่เราก็จะเป็นร้านหนังสือที่แอ็กทีฟมากขึ้น ไม่แพสซีฟอีกต่อไป”
การเป็นร้านหนังสือที่ทำหน้าที่คัดสรรและคิวเรตหนังสือได้อย่างแอ็กทีฟนี้ไม่ได้จำกัดอยู่ในพื้นที่หน้าร้านหนังสือเพียงอย่างเดียว
“เมื่อเรามองว่าตัวเองเป็น ‘Book Curator’ เราต้องสร้าง ‘ชุมชนนักอ่าน’ ขึ้นมาด้วย เพื่อดึงนักอ่านใหม่ๆ เข้ามา หากขายแต่หนังสือเพียงอย่างเดียว ระบบนิเวศนี้จะจบเลย เพราะตั้งแต่นักเขียน สำนักพิมพ์ โรงพิมพ์ รวมถึงร้านหนังสือล้วนต้องพึ่งพานักอ่านทั้งหมด เพราะฉะนั้นการสร้างผู้อ่านหน้าใหม่จึงสำคัญต่อทั้งระบบ” วิกกี้กล่าวอย่างจริงจัง
“การสร้างคอมมิวนิตี้นักอ่านของ Books & Belongings จึงขยายไปยังพื้นที่ออนไลน์ด้วย โดยเฉพาะช่วงที่โควิดหนักๆ พี่โยก็จัดไลฟ์เพื่อพูดคุย หรือจัดเป็น Reading Club ที่เชิญคนมากมายมาเข้าร่วม เพราะฉะนั้นนักอ่านจากภาคเหนือ อีสาน ใต้ ก็สามารถเอ็นเกจกับเราได้ และสามารถสร้างบทสนทนาที่เกี่ยวกับหนังสือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรม นวนิยาย งานปรัชญาหรือวิชาการ ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสือที่วางขายในร้านเราได้ด้วย”
หยิบความรู้ที่ได้จากหนังสือมาเป็นแรงบันดาลใจขับเคลื่อนชุมชน
“เราอยากจะเชื่อมโยงให้เห็นว่าคนทำร้านหนังสือสามารถที่จะหยิบจับเนื้อหาจากหนังสือมาเป็นแรงบันดาลใจ ต่อยอดเป็นไอเดียในการใช้ทำกิจกรรมที่ทำงานกับชุมชนได้จริงๆ”
ตัวอย่างของการทำงานกับชุมชนที่วิกกี้เอ่ยถึงคือการจัดงานเสวนา ‘การเมืองเรื่องอาหาร’ (Politics of Food) ในเทศกาล Bangkok Design Week 2024 ที่ผ่านมา เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ของผู้คนทั้งในและนอกชุมชนตลาดบางจากและพื้นที่สุขุมวิทใต้ (South Sukhumvit) โดยเชิญอาจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา นักวิชาการชื่อดังมาพูดคุยในหัวข้อ ‘ความไม่ยั่งยืนของความไม่ยั่งยืนทางอาหาร’ และอนุสรณ์ ติปยานนท์ นักคิดนักเขียนผู้มีผลงานมากมาย มาถกประเด็นเรื่อง ‘ความเป็นไปได้ของชุมชนอาหาร’ พร้อมกิจกรรมเวิร์กช็อปสวนหย่อมกินได้ด้วยตัวเอง เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนในชุมชน ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในพื้นที่มาแต่ดั้งเดิมอยู่แล้วไปจนถึงคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ในคอนโดตามการเติบโตของย่าน
“เราอยากทำกิจกรรมที่สัมพันธ์กับชุมชน ซึ่ง ‘บางจาก’ ของเราเป็นชุมชนอาหาร เราเลยคิดว่าเป็นไปได้ไหมที่จะโปรโมตตลาดของชุมชนนี้ ผ่านการทำกิจกรรมที่ดึงคนข้างนอกให้เข้ามาทำความรู้จักและได้เห็นวิถีชีวิตจริงๆ ในพื้นที่ชุมชนนี้” โยเล่าให้ฟังถึงเบื้องหลังของการจัดกิจกรรมนี้
วิกกี้เสริมต่อว่า “ซึ่งไอเดียนี้ไม่ใช่อยู่ดีๆ เราคิดขึ้นมาได้เอง แต่มันมาจากการอ่านทั้งงานวิจัยและโครงการต่างๆ รวมไปถึงหนังสือเรื่อง ‘The Politics of Food’”
วิกกี้ยังย้ำอีกด้วยว่าการสร้างชุมชนที่เข้มแข็งเป็นสิ่งสำคัญ แต่การจะไปถึงจุดนั้นได้ไม่สามารถสำเร็จได้ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์
“โดยส่วนตัวเราเชื่อเรื่องการทำงานกับชุมชนที่เราอาศัยอยู่ มิเช่นนั้นแล้วเราจะกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมในพื้นที่ ขณะเดียวกันกิจกรรมที่เราทำก็ต้องไม่ทำให้คนในชุมชนรู้สึกว่าเขาอยู่ตรงนี้ไม่ได้และต้องถูกขับให้ออกไปหาที่อื่นอยู่ เรากำลังมองหา ‘การอยู่ร่วมกัน’ เชื่อมให้ทุกคนได้เกิดการปฏิสัมพันธ์และเกิดความรู้สึกเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่ว่าเราจะทำอะไรด้วยกันได้ยังไงนั้น ต้องค่อยๆ ก้าวไปทีละสเต็ป และสามารถปรับใช้ได้จริงกับวิถีชีวิตประจำวันของคนในชุมชน ไม่ใช่สร้างให้เป็นภาพฝันสวยงามแต่อยู่ได้ไม่นานก็หายไป”
นอกจากทำงานกับชุมชนที่ร้านตั้งอยู่แล้ว Books & Belongings ยังจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นคอมมิวนิตี้นักอ่านของตัวเองให้ออกมาพบปะผู้คนในวงการต่างๆ นอกจากโลกแห่งหนังสือด้วย
“เราเชื่อว่านักอ่านไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างโดดเดี่ยว เรายังเชื่อในการพบปะพูดคุยกัน ดังนั้นเราเลยพยายามดึงทั้งตัวเราเองและผู้อ่านของเราออกมาจากคอมฟอร์ตโซนเพื่อร่วมกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น”
‘Bangkok Erotica Book Fest’ หรือ BEB Fest เมื่อปี 2565 ที่ Books & Belongings ได้ร่วมทำกับ DOC Club คือหนึ่งในกิจกรรมที่วิกกี้กล่าวถึง โดยในงานไม่ได้มีเพียงการจำหน่ายหนังสือแนวอีโรติกทั้งของไทยและต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังมีเวิร์กช็อปศิลปะแห่งเรือนร่างและสรีระ และวิธีการเขียนและบรรยายฉากอัศจรรย์ การจัดแสดงนิทรรศการภาพวาดอีโรติก การจัดฉายหนังอีโรติกพร้อมทอล์กหลังชม รวมไปถึงเสวนาในประเด็นการเมืองเรื่องเพศ และพูดคุยเรื่องเซ็กส์กับกลุ่มเซ็กส์ครีเอเตอร์ (sex creator)
“มิติที่ BEB Fest ทำงานคือการดึงผู้คนที่สนใจทั้งวรรณกรรม ภาพยนตร์ ศิลปะ และประเด็นทางสังคมมานั่งดิสคัสกัน ซึ่งมันทำให้เราได้เรียนรู้นอกตำรา นอกเหนือจากการอ่านหนังสือเยอะมาก และในอนาคตเราก็จะมีโปรเจกต์ร่วมกับทาง DOC Club อีก ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพูดคุยกันอยู่”
“กิจกรรมแบบนี้ทำให้เราได้รู้จักคนมากมายหลายแบบ” โยเสริม “มันสนุกและทำให้เราได้นำความรู้ที่มีจากการอ่านหนังสือมาปรับใช้ด้วย”
หนังสือกับการเป็นเครื่องมือสโลว์ดาวน์ตัวเองในวันที่โลกหมุนเร็วยิ่งกว่าเคย
ทุกวันนี้เราทุกคนอยู่ในยุคอินเทอร์เน็ตที่ทำให้สามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วเพียงปลายนิ้ว ใช้คีย์เวิร์ดเพียงไม่กี่คำในการค้นหา ก็สามารถเข้าใจได้อย่างง่ายดาย ซึ่งนี่แตกต่างจากธรรมชาติของหนังสือที่เป็นรูปเล่มโดยสิ้นเชิง
โยให้ความเห็นของตัวเองต่อประเด็นนี้ว่า “การอ่านหนังสือที่เป็นรูปเล่มมันทำให้เราอยู่กับตัวเอง กว่าเราจะอ่านจบ มันใช้เวลานะ อย่างน้อยก็เป็นอาทิตย์ หรือสำหรับคนที่อ่านเร็วหน่อยก็ 2-3 วัน แต่มันไม่ใช่หนึ่งชั่วโมงจบแน่ๆ ไม่งั้นแล้วจะไม่ได้อะไรเลย
“ปัจจุบันมักจะมีคนพูดว่าอ่านหนังสือไม่เห็นรู้เรื่องเลย แต่การอ่านหนังสือมันต้องเริ่มจากความไม่รู้นี่แหละ และเราก็ไม่จำเป็นต้องรีบที่จะทำความเข้าใจมัน แล้ววันหนึ่งมันจะเกิดโมเมนต์ที่เรารู้สึกว่าเข้าใจแทบจะทุกตัวอักษรหรือทุกประโยคในหนังสือนั้น มันคือกระบวนการเรียนรู้ และสำหรับผมมองว่านี่คือเสน่ห์ของการอ่านหนังสือ”
ส่วนวิกกี้แชร์มุมมองของเธอโดยยกข้อมูลที่ได้จากการอ่านหนังสือของสรวิศ ชัยนาม ว่า “‘เมื่อโลกซึมเศร้า’ พูดถึงปัญหาของคนในสังคมปัจจุบันนี้ที่รู้สึกว่าตัวเองดีเพรสง่ายขึ้นโดยไม่รู้ตัว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะโซเชียลมีเดียที่เป็นปัจจัยเร่งเร้าให้ต้องรู้สึกแฮปปี้ ต้องแอ็กทีฟอยู่ตลอดเวลา และต้องเร็วในการประสบความสำเร็จ ซึ่งไม่ใช่แค่การแข่งกับคนอื่นเท่านั้น แต่ต้องแข่งกับตัวเองด้วย
“การหยุดเสพสื่อเร็วๆ แบบโซเชียลมีเดียแล้วมาอ่านหนังสือในรูปแบบเล่มทำให้เราได้คิดวิเคราะห์ตัวบทของหนังสือที่อยู่ตรงหน้า มันช่วยให้เรารีแลกซ์ ในขณะเดียวกันก็ทำให้เราไม่ต้องมานั่งจดจ่อว่าตอนนี้ฉันประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง”
“เพราะฉะนั้นเลยอยากชวนทุกคนมาอ่านหนังสือที่เป็นตัวเล่ม เพื่อที่เราจะได้สโลว์ดาวน์กันบ้าง ไม่ต้องรีบ” โยปิดท้าย
“ต้องบอกว่าร้านของเราตอนนี้เข้าเวอร์ชั่น 3 แล้ว จากเวอร์ชั่น 1 ที่อยู่ตรงปากซอยสุขุมวิท 91”
โย-กิตติพล สรัคคานนท์ เริ่มต้นเล่าที่มาที่ไปของร้านหนังสือ Books & Belongings ให้เราฟัง หลังจากที่เราและเขา รวมถึงหุ้นส่วนของร้านอีกหนึ่งคน นั่นก็คือ วิกกี้-วิชุตา โลหิตโยธิน นั่งล้อมวงสนทนาที่โต๊ะวางหนังสือใจกลางร้านแห่งนี้ ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในซอยสุขุมวิท 95 ย่านบางจาก
โยพาเราย้อนกลับไปยังปี 2013 จุดกำเนิดเวอร์ชั่นแรกของร้าน ที่เริ่มต้นจากความชื่นชอบบรรยากาศร้านกาแฟจนมักจะนัดประชุมกับเพื่อนร่วมงานในสถานที่ที่มีไวบ์แบบนั้นอยู่บ่อยๆ และต่อยอดมาเป็นการดัดแปลงพื้นที่ชั้นล่างของออฟฟิศตัวเอง ณ ปากซอยสุขุมวิท 91 ให้กลายเป็นร้านหนังสือสไตล์ลำลองที่เพื่อนร่วมงาน รวมถึงลูกค้าที่มาประชุมงาน สามารถนั่งพูดคุย อ่านหนังสือ หรือซื้อติดไม้ติดมือกลับไปด้วยได้
“ตอนนั้นผมชอบคอนเซปต์ของ ‘Oulipo’ (อูลิโป - ย่อมาจากชื่อกลุ่มเคลื่อนไหววรรณกรรมในฝรั่งเศสที่ชื่อว่า Ouvroir de littérature potentielle) ที่มองว่างานวรรณกรรมคือการทดลองหาความเป็นไปได้ ผมก็เลยเอาธีมนี้มาสร้างเป็น Books & Belongings ในเวอร์ชั่นแรก โดยออกแบบให้เป็นเวิร์กช็อปของโรงงานในต้นศตวรรษที่ 20 ที่มีคนนั่งเขียนแบบหรือนั่งประกอบผลงานต่างๆ อยู่บนโต๊ะ เพราะฉะนั้นโต๊ะ เก้าอี้ และบรรยากาศในร้านจะมีความเป็นอินดัสเทรียลมากๆ และก็มีพิมพ์ดีด หมึกพิมพ์ดีด ปากกา รวมถึงสมุดต่างๆ ที่ใช้เป็นทั้งของประดับตกแต่งร้านและขายจริงด้วย”
หลังจากนั้นร้านก็ก้าวเข้าสู่เวอร์ชั่นสอง หลังได้ Vacilando Bookshop ที่เชี่ยวชาญด้านหนังสือแนวโฟโต้บุ๊กเข้ามาแชร์พื้นที่ ซึ่งถึงแม้การร่วมมือกันในครั้งนี้จะช่วยให้โยกระตือรืนร้นในการคัดสรรหนังสือและคิวเรตหน้าร้านและบุ๊กเชลฟ์ของ Books & Belongings ให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันสภาวะอิ่มตัวของการทำร้านหนังสือก็ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ เช่นกัน
ระหว่างที่โยกำลังลังเลอยู่ว่าจะไปต่อกับเส้นทางนี้ดีหรือไม่ วิกกี้ก็เข้ามาเป็นแรงกระตุ้นใหม่ให้โยลุกขึ้นสู้อีกครั้งและสานต่อความเป็น Books & Belongings ในเวอร์ชั่นใหม่ที่มาพร้อมกับระบบฐานข้อมูลดิจิทัล
“เราชอบบรรยากาศร้านมากและรู้สึกว่าร้านหนังสือแบบนี้จำเป็นที่จะต้องมีอยู่ เราเลยขอมาร่วมทำด้วย” วิกกี้เล่าถึงความตั้งใจของเธอในการร่วมงานกับโย
“ในเวอร์ชั่นก่อนๆ พี่โยยังใช้ระบบจดมืออยู่ แต่ตอนที่เราเข้ามา ลูกค้าไม่สามารถเข้ามายังพื้นที่หน้าร้านได้ เนื่องจากอยู่ในช่วงล็อกดาวน์โควิด เราเลยต้องย้ายหนังสือจาก Physical Platform ไปอยู่บน Online Platform ในขณะเดียวกันเราต้องการที่จะเห็นเรคคอร์ดต่างๆ ของร้านด้วย จึงนำไปสู่การสังคายนารอบใหญ่ ในการสร้างดาต้าเบสและระบบสต็อกหนังสือ หรือ Inventory เพื่อให้เราสามารถเช็กข้อมูลได้ว่าจำนวนการเข้าออกของหนังสือแต่ละเล่มเป็นยังไง ลูกค้าของร้านมาจากช่องทางไหนบ้าง ทั้งหมดนี้เราจัดการเสร็จภายในเวลาประมาณไม่ถึง 2 เดือนดี โควิดก็เป็นช่วงเวลาลูกผีลูกคนสำหรับเราเหมือนกัน มันเฆี่ยนตีเราให้ปรับตัวเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไม่งั้นเราก็ไปต่อไม่ได้”
อย่างไรก็ตาม ความโหดร้ายที่มีต่อผู้ประกอบธุรกิจร้านหนังสืออิสระเล็กๆ อย่างโยและวิกกี้ยังไม่จบลงแต่เพียงเท่านี้ ในขณะที่กำลังรับมือกับสถานการณ์ในช่วงวิกฤตโควิตอยู่นั้น ทั้งคู่ต้องเผชิญกับปัญหาใหม่ที่เร่งด่วนยิ่งกว่า นั่นก็คือการหาหน้าร้านใหม่ เนื่องจากสัญญาเช่าของพื้นที่เดิมสิ้นสุดลงและไม่มีการต่อสัญญา
“การมาเจอทำเลตรงนี้ก็อัศจรรย์ดีเหมือนกันนะ” โยมองความท้าทายในครั้งนั้นด้วยความสนุก “ตอนที่เราเดินสำรวจในซอยสุขุมวิท 95 มันมีห้องว่างอยู่ไม่เยอะ แล้วเราก็เห็นตึกหนึ่งที่หน้าตาและการตกแต่งคล้ายๆ ร้านเดิมของเราเลย เราก็เลยลองโทรติดต่อเจ้าของดู”
ขณะที่ทั้งคู่เล่าถึงธุรกิจร้านหนังสือและปัญหาต่างๆ ที่กำลังประสบให้เจ้าของตึกแห่งนี้ฟัง ความบังเอิญอันน่ามหัศจรรย์อย่างที่โยว่าก็เกิดขึ้น เมื่อเจ้าของเฉลยว่าตัวเองก็เป็นลูกค้าของ Books & Belongings และชื่นชอบบรรยากาศและการตกแต่งร้านที่ปากซอยสุขุมวิท 91 มากจนนำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการประยุกต์ดัดแปลงให้เข้ากับอาคารแห่งนี้ อีกทั้งยังยินดีให้โยและวิกกี้สามารถย้ายร้านมาได้ทันที
วิกกี้นิยามเหตุการณ์ในครั้งนั้นด้วยประโยคสั้นๆ ว่า “มันเหมือนกับว่าในขณะที่เรากำลังจะออกจากที่หนึ่ง ประตูบานใหม่มันก็เปิดรับทันทีเหมือนกัน”
Curated Bookstore ที่สร้าง Reading Journey ให้ผู้อ่าน
“ร้านหนังสือจะอยู่ได้ สิ่งสำคัญคือต้องทำงานอย่างหนัก หากลุ่มนักอ่านของตัวเองให้เจอและทำความเข้าใจ รวมถึงเชื่อมั่นในทิศทางที่ตัวเองกำลังทำอยู่”
วิกกี้เล่าว่าระบบฐานข้อมูลที่เธอและโยสร้างขึ้นมาในช่วงโควิดนั้น ทำให้ทั้งคู่เห็นว่าลูกค้าของ Books & Belongings ในเวอร์ชั่นปัจจุบันมีทั้งผู้ที่ไม่รู้เลยว่าตัวเองอยากอ่านหนังสือแบบใดและต้องการคำแนะนำจากเจ้าของร้านหนังสือ ไปจนถึงกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่มาตามหาหนังสือเพิ่มเติมเพื่อต่อยอดการเรียนรู้ของตัวเอง และคนทำงานที่เป็นคอวรรณกรรม หรือต้องการหนังสือที่ตอบโจทย์หรือสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานสายครีเอทีฟ แม้กระทั่งกลุ่มนักอ่านที่อยู่ในวัยเกษียณแล้ว
แม้กลุ่มนักอ่านที่เข้าร้านหนังสือจะมีความหลากหลาย ครอบคลุมเกือบทุกช่วงวัย กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า Books & Belongings จะเลือกหนังสืออะไรก็ได้มาวางจำหน่ายที่หน้าร้าน เจ้าของร้านทั้งสองคนต้องทำการบ้านเพื่อดูว่าลูกค้าปัจจุบันของตัวเองคือใคร และอยากจะขยายกลุ่มนักอ่านไปในทิศทางไหน อีกทั้งจะเข้าถึงพวกเขาเหล่านั้นได้อย่างไร นอกจากนี้ยังต้องอัปเดตหนังสือให้เท่าทันสถานการณ์โลก ณ ขณะนั้นด้วยเพื่อจะได้รู้ว่าผู้อ่านต้องการข้อมูลเรื่องไหน สนใจประเด็นใดเป็นพิเศษอยู่บ้าง
“จะสังเกตได้ว่าร้านเราไม่มีพื้นที่คาเฟ่หรือร้านอาหาร เพราะเราต้องการโฟกัสกับการ ‘คิวเรต’ และ ‘คัดสรร’ หนังสือ โดยเรากับพี่โยช่วยกันทำ ซึ่งใช้เวลาและพลังค่อนข้างสูง และเราก็ไม่ได้รับหนังสือที่เป็น New Arrival หรือ Bestseller มาลงที่หน้าร้าน เพราะเรามองว่ามีร้านหนังสือรีเทลอื่นๆ ที่ทำหน้าที่นั้นได้ดีอยู่แล้ว ดังนั้นไม่จำเป็นที่เราต้องไปทับซ้อนพื้นที่นั้น”
โยเสริมวิกกี้เพิ่มเติมว่า “ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เรามองตัวเองเป็น ‘Curated Bookstore’ มาโดยตลอด ถ้าผู้อ่านที่เข้ามาในร้านจับทางได้ เขาก็จะเห็นว่าร้านเราให้ความสำคัญกับวรรณกรรม งานเขียนแนวปรัชญา และงานด้านทฤษฎีมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และพอวิกกี้เข้ามา ก็ขยายไปถึงประเด็นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมไปถึงความรู้ในเชิงวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือศิลปะ ซึ่งมันก็ยังรีเลตกับปรัชญาที่ผมสนใจอยู่ดี”
ฟังดูแล้วหนังสือของร้านก็มีตัวเลือกที่หลากหลายพอสมควร แต่วิกกี้บอกว่าความหลากหลายนี้ถูกคลุมไว้ด้วยคาแรกเตอร์ที่ยูนีกและคอนเซปต์ของร้านที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าต้องการพาตัวเองและผู้อ่านเดินไปยังทิศทางใด
“เราสร้าง ‘Reading Journey’ ให้แก่ผู้อ่านทุกคนที่ได้เข้ามาในร้าน เมื่อเขาเริ่มอ่านเล่มที่หนึ่งแล้ว เขาก็จะเห็นไดเร็กชั่นที่ค่อนข้างชัดว่าเขาจะต้องไปอ่านอะไรต่อ ซึ่งเราต้องเชื่อมโยง Journey ตรงนี้ให้ดี ไม่งั้นมันจะเหมือนเส้นทางที่เป็นหลุมเป็นบ่อ ไม่ปะติดปะต่อกัน นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงพยายามติดต่อสำนักพิมพ์เพื่อให้ได้เล่มนั้นเล่มนี้มาอยู่ที่ร้าน มันใช้เอเนอร์จี้เยอะกว่าจะทำให้การเดินทางของแต่ละเรื่องผ่านหนังสือเล่มต่างๆ นั้นครบและจบแบบกลมกล่อม แต่เราก็จะเป็นร้านหนังสือที่แอ็กทีฟมากขึ้น ไม่แพสซีฟอีกต่อไป”
การเป็นร้านหนังสือที่ทำหน้าที่คัดสรรและคิวเรตหนังสือได้อย่างแอ็กทีฟนี้ไม่ได้จำกัดอยู่ในพื้นที่หน้าร้านหนังสือเพียงอย่างเดียว
“เมื่อเรามองว่าตัวเองเป็น ‘Book Curator’ เราต้องสร้าง ‘ชุมชนนักอ่าน’ ขึ้นมาด้วย เพื่อดึงนักอ่านใหม่ๆ เข้ามา หากขายแต่หนังสือเพียงอย่างเดียว ระบบนิเวศนี้จะจบเลย เพราะตั้งแต่นักเขียน สำนักพิมพ์ โรงพิมพ์ รวมถึงร้านหนังสือล้วนต้องพึ่งพานักอ่านทั้งหมด เพราะฉะนั้นการสร้างผู้อ่านหน้าใหม่จึงสำคัญต่อทั้งระบบ” วิกกี้กล่าวอย่างจริงจัง
“การสร้างคอมมิวนิตี้นักอ่านของ Books & Belongings จึงขยายไปยังพื้นที่ออนไลน์ด้วย โดยเฉพาะช่วงที่โควิดหนักๆ พี่โยก็จัดไลฟ์เพื่อพูดคุย หรือจัดเป็น Reading Club ที่เชิญคนมากมายมาเข้าร่วม เพราะฉะนั้นนักอ่านจากภาคเหนือ อีสาน ใต้ ก็สามารถเอ็นเกจกับเราได้ และสามารถสร้างบทสนทนาที่เกี่ยวกับหนังสือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรม นวนิยาย งานปรัชญาหรือวิชาการ ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสือที่วางขายในร้านเราได้ด้วย”
หยิบความรู้ที่ได้จากหนังสือมาเป็นแรงบันดาลใจขับเคลื่อนชุมชน
“เราอยากจะเชื่อมโยงให้เห็นว่าคนทำร้านหนังสือสามารถที่จะหยิบจับเนื้อหาจากหนังสือมาเป็นแรงบันดาลใจ ต่อยอดเป็นไอเดียในการใช้ทำกิจกรรมที่ทำงานกับชุมชนได้จริงๆ”
ตัวอย่างของการทำงานกับชุมชนที่วิกกี้เอ่ยถึงคือการจัดงานเสวนา ‘การเมืองเรื่องอาหาร’ (Politics of Food) ในเทศกาล Bangkok Design Week 2024 ที่ผ่านมา เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ของผู้คนทั้งในและนอกชุมชนตลาดบางจากและพื้นที่สุขุมวิทใต้ (South Sukhumvit) โดยเชิญอาจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา นักวิชาการชื่อดังมาพูดคุยในหัวข้อ ‘ความไม่ยั่งยืนของความไม่ยั่งยืนทางอาหาร’ และอนุสรณ์ ติปยานนท์ นักคิดนักเขียนผู้มีผลงานมากมาย มาถกประเด็นเรื่อง ‘ความเป็นไปได้ของชุมชนอาหาร’ พร้อมกิจกรรมเวิร์กช็อปสวนหย่อมกินได้ด้วยตัวเอง เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนในชุมชน ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในพื้นที่มาแต่ดั้งเดิมอยู่แล้วไปจนถึงคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ในคอนโดตามการเติบโตของย่าน
“เราอยากทำกิจกรรมที่สัมพันธ์กับชุมชน ซึ่ง ‘บางจาก’ ของเราเป็นชุมชนอาหาร เราเลยคิดว่าเป็นไปได้ไหมที่จะโปรโมตตลาดของชุมชนนี้ ผ่านการทำกิจกรรมที่ดึงคนข้างนอกให้เข้ามาทำความรู้จักและได้เห็นวิถีชีวิตจริงๆ ในพื้นที่ชุมชนนี้” โยเล่าให้ฟังถึงเบื้องหลังของการจัดกิจกรรมนี้
วิกกี้เสริมต่อว่า “ซึ่งไอเดียนี้ไม่ใช่อยู่ดีๆ เราคิดขึ้นมาได้เอง แต่มันมาจากการอ่านทั้งงานวิจัยและโครงการต่างๆ รวมไปถึงหนังสือเรื่อง ‘The Politics of Food’”
วิกกี้ยังย้ำอีกด้วยว่าการสร้างชุมชนที่เข้มแข็งเป็นสิ่งสำคัญ แต่การจะไปถึงจุดนั้นได้ไม่สามารถสำเร็จได้ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์
“โดยส่วนตัวเราเชื่อเรื่องการทำงานกับชุมชนที่เราอาศัยอยู่ มิเช่นนั้นแล้วเราจะกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมในพื้นที่ ขณะเดียวกันกิจกรรมที่เราทำก็ต้องไม่ทำให้คนในชุมชนรู้สึกว่าเขาอยู่ตรงนี้ไม่ได้และต้องถูกขับให้ออกไปหาที่อื่นอยู่ เรากำลังมองหา ‘การอยู่ร่วมกัน’ เชื่อมให้ทุกคนได้เกิดการปฏิสัมพันธ์และเกิดความรู้สึกเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่ว่าเราจะทำอะไรด้วยกันได้ยังไงนั้น ต้องค่อยๆ ก้าวไปทีละสเต็ป และสามารถปรับใช้ได้จริงกับวิถีชีวิตประจำวันของคนในชุมชน ไม่ใช่สร้างให้เป็นภาพฝันสวยงามแต่อยู่ได้ไม่นานก็หายไป”
นอกจากทำงานกับชุมชนที่ร้านตั้งอยู่แล้ว Books & Belongings ยังจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นคอมมิวนิตี้นักอ่านของตัวเองให้ออกมาพบปะผู้คนในวงการต่างๆ นอกจากโลกแห่งหนังสือด้วย
“เราเชื่อว่านักอ่านไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างโดดเดี่ยว เรายังเชื่อในการพบปะพูดคุยกัน ดังนั้นเราเลยพยายามดึงทั้งตัวเราเองและผู้อ่านของเราออกมาจากคอมฟอร์ตโซนเพื่อร่วมกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น”
‘Bangkok Erotica Book Fest’ หรือ BEB Fest เมื่อปี 2565 ที่ Books & Belongings ได้ร่วมทำกับ DOC Club คือหนึ่งในกิจกรรมที่วิกกี้กล่าวถึง โดยในงานไม่ได้มีเพียงการจำหน่ายหนังสือแนวอีโรติกทั้งของไทยและต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังมีเวิร์กช็อปศิลปะแห่งเรือนร่างและสรีระ และวิธีการเขียนและบรรยายฉากอัศจรรย์ การจัดแสดงนิทรรศการภาพวาดอีโรติก การจัดฉายหนังอีโรติกพร้อมทอล์กหลังชม รวมไปถึงเสวนาในประเด็นการเมืองเรื่องเพศ และพูดคุยเรื่องเซ็กส์กับกลุ่มเซ็กส์ครีเอเตอร์ (sex creator)
“มิติที่ BEB Fest ทำงานคือการดึงผู้คนที่สนใจทั้งวรรณกรรม ภาพยนตร์ ศิลปะ และประเด็นทางสังคมมานั่งดิสคัสกัน ซึ่งมันทำให้เราได้เรียนรู้นอกตำรา นอกเหนือจากการอ่านหนังสือเยอะมาก และในอนาคตเราก็จะมีโปรเจกต์ร่วมกับทาง DOC Club อีก ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพูดคุยกันอยู่”
“กิจกรรมแบบนี้ทำให้เราได้รู้จักคนมากมายหลายแบบ” โยเสริม “มันสนุกและทำให้เราได้นำความรู้ที่มีจากการอ่านหนังสือมาปรับใช้ด้วย”
หนังสือกับการเป็นเครื่องมือสโลว์ดาวน์ตัวเองในวันที่โลกหมุนเร็วยิ่งกว่าเคย
ทุกวันนี้เราทุกคนอยู่ในยุคอินเทอร์เน็ตที่ทำให้สามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วเพียงปลายนิ้ว ใช้คีย์เวิร์ดเพียงไม่กี่คำในการค้นหา ก็สามารถเข้าใจได้อย่างง่ายดาย ซึ่งนี่แตกต่างจากธรรมชาติของหนังสือที่เป็นรูปเล่มโดยสิ้นเชิง
โยให้ความเห็นของตัวเองต่อประเด็นนี้ว่า “การอ่านหนังสือที่เป็นรูปเล่มมันทำให้เราอยู่กับตัวเอง กว่าเราจะอ่านจบ มันใช้เวลานะ อย่างน้อยก็เป็นอาทิตย์ หรือสำหรับคนที่อ่านเร็วหน่อยก็ 2-3 วัน แต่มันไม่ใช่หนึ่งชั่วโมงจบแน่ๆ ไม่งั้นแล้วจะไม่ได้อะไรเลย
“ปัจจุบันมักจะมีคนพูดว่าอ่านหนังสือไม่เห็นรู้เรื่องเลย แต่การอ่านหนังสือมันต้องเริ่มจากความไม่รู้นี่แหละ และเราก็ไม่จำเป็นต้องรีบที่จะทำความเข้าใจมัน แล้ววันหนึ่งมันจะเกิดโมเมนต์ที่เรารู้สึกว่าเข้าใจแทบจะทุกตัวอักษรหรือทุกประโยคในหนังสือนั้น มันคือกระบวนการเรียนรู้ และสำหรับผมมองว่านี่คือเสน่ห์ของการอ่านหนังสือ”
ส่วนวิกกี้แชร์มุมมองของเธอโดยยกข้อมูลที่ได้จากการอ่านหนังสือของสรวิศ ชัยนาม ว่า “‘เมื่อโลกซึมเศร้า’ พูดถึงปัญหาของคนในสังคมปัจจุบันนี้ที่รู้สึกว่าตัวเองดีเพรสง่ายขึ้นโดยไม่รู้ตัว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะโซเชียลมีเดียที่เป็นปัจจัยเร่งเร้าให้ต้องรู้สึกแฮปปี้ ต้องแอ็กทีฟอยู่ตลอดเวลา และต้องเร็วในการประสบความสำเร็จ ซึ่งไม่ใช่แค่การแข่งกับคนอื่นเท่านั้น แต่ต้องแข่งกับตัวเองด้วย
“การหยุดเสพสื่อเร็วๆ แบบโซเชียลมีเดียแล้วมาอ่านหนังสือในรูปแบบเล่มทำให้เราได้คิดวิเคราะห์ตัวบทของหนังสือที่อยู่ตรงหน้า มันช่วยให้เรารีแลกซ์ ในขณะเดียวกันก็ทำให้เราไม่ต้องมานั่งจดจ่อว่าตอนนี้ฉันประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง”
“เพราะฉะนั้นเลยอยากชวนทุกคนมาอ่านหนังสือที่เป็นตัวเล่ม เพื่อที่เราจะได้สโลว์ดาวน์กันบ้าง ไม่ต้องรีบ” โยปิดท้าย